ข้อมูลปลั๊ก เต้ารับและกระแสไฟ ประเทศในทวีปเอเชีย

สาระดีๆ เตรียมความพร้อมท่องเที่ยว ASIA พี่ช้างนำข้อมูลปลั๊ก เต้ารับและกระแสไฟ ประเทศในทวีปเอเชียพอสังเขปมาแบ่งปันเพื่อนๆครับ

ปัจจุบันเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตไปแล้ว ซึ่งหนึ่งในปัญหากวนใจของนักเดินทางก็คงหนีไม่พ้นเรื่องปลั๊กไฟครับ ในแต่ละประเทศก็จะใช้ปลั๊กประเภทที่แตกต่างกันไป จะดีกว่ามั้ยถ้าได้เราเตรียมตัวพก Adapter ที่เหมาะสมไปใช้ได้ก่อน

ปลั๊กไฟและเต้ารับในทวีปเอเชียแบ่งได้เป็น 12 ประเภท ตั้งแต่ TYPE A ,B,C,D,E,F,G,H,I,J,L,M กำหนดมาตรฐานโดย International Electrotechnical Commision

TYPE A ปลั๊กหัวแบน สองขา (ไม่มีกราวด์) บริเวณขาของเครื่องใช้ไฟฟ้าปลั๊กหลายตัว จะมีรูเล็กๆ อยู่ด้วย ซึ่งจะใช้งานร่วมกับสลักภายในปลั๊ก ที่จะช่วยให้ปลั๊กเสียบได้แน่น ไม่หลุดออกจากรูง่ายๆ

TYPE B คือปลั๊กหัวแบนสองขา กับขากราวด์ กลมๆ อีกหนึ่งขา ขากราวด์จะมีความยาวมากกว่าอีก 2 ขาเสมอ เพื่อที่ตอนเสียบปลั๊กนั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าจะถูกต่อสายดิน ให้มีสถานะเป็นกราวด์ก่อนที่ไฟจะถูกจ่ายผ่านปลั๊ก

TYPE C ปลั๊กหัวกลม 2 ขา (ไม่มีกราวด์) รองรับแรงดันไฟที่มากและได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลกในปัจจุบัน

โซนการใช้ปลั๊กไฟแต่ละประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่ง TYPE C จะครอบคลุมการใช้งานเป็นส่วนใหญ่ ถือได้เป็นรูปแบบที่เป็นสากลเลยทีเดียว

TYPE D ปลั๊กหัวกลมคู่ พร้อมขากราวด์ใหญ่ๆ เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า

TYPE E มีหัวกลมคู่ กับคลิปสำหรับกราวด์ 1 ด้าน

TYPE F มีลักษณะเป็นขากลมคู่ พร้อมคลิปกราวด์ทั้งสองด้าน เต้าเสียบมักจะเป็นหลุมลงไป เพื่อความปลอดภัย ข้อเสียคือเป็นปลั๊กที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เทอะทะ

TYPE G หัวสี่เหลี่ยม 3 หัว มาตรฐานของปลั๊กนี้จะมีฟิวส์ฝังอยู่ภายในด้วย เป็นหนึ่งในปลั๊กประเภทที่มีความปลอดภัยสูง

TYPE H มีสามขาแบน เรียงกันเป็นสามเหลี่ยม เอียงเข้าหากัน

TYPE I เป็นหัวแบน 3 ขา เอียงออกจากกันเป็นตัว V พร้อมขากราวด์

TYPE J มีลักษณะเป็นหัวกลม 3 ขา แต่มีระยะห่างของขากราวด์ไม่มากนัก

TYPE L มีลักษณะเป็นขากลม 3 ขาเรียงกันเป็นเส้นตรง โดยขาตรงกลางเป็นขากราวด์

TYPE M หัวกลม 3 ขา โดยขากราวด์มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ

ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก็สามารถใช้ปลั๊กได้หลาย Type ครับ ที่เราเห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรา ปลั๊กจะแบนบ้าง กลมบ้าง สองขาบ้าง สามขาบ้าง ซึ่งเต้ารับก็จะรองรับค่อนข้างครอบคลุม แต่ถ้าเดินทางไปบางประเทศ เต้ารับจะไม่ยืดหยุ่นเท่าบ้านเรา ต้องใช้ Adapterแปลงก่อนเท่านั้น
 กระแสไฟของแต่ละประเทศในทวีปเอเชีย

  • เวียดนาม 220 V 50 Hz
  • ศรีลังกา 230 V 50 Hz
  • สิงคโปร์ 230 V 50 Hz
  • เกาหลีใต้ 110 V/220 V 60 Hz
  • ฟิลิปปินส์ 220 V 60 Hz
  • ปากีสถาน 230 V 50 Hz
  • เนปาล 230 V 50 Hz
  • พม่า 230 V 50 Hz
  • มาเลเซีย 240 V 50 Hz
  • ลาว 230 V 50 Hz
  • ญี่ปุ่น 100 V 50 Hz/ 60 Hz
  • อินโดนีเซีย 230 V 50 Hz
  • อินเดีย 230 V 50 Hz
  • ไต้หวัน 110 V 60 Hz
  • มาเก๊า 220 V 50 Hz
  • ฮ่องกง 220 V 50 Hz
  • จีน 220 V 50 Hz
  • กัมพูชา 230 V 50 Hz
  • บรูไน 240 V 50 Hz
  • ภูฏาน 230 V 50 Hz
  • จอร์แดน 230 V 50 Hz
  • บาห์เรน 230 V 50 Hz
  • อิหร่าน 230 V 50 Hz
  • อิรัก 230 V 50 Hz
  • อิสราเอล 220 V 50 Hz
  • คูเวต 240 V 50 Hz
  • เลบานอน 10/220 V 50 Hz
  • โอมาน 240 V 50 Hz
  • กาตาร์ 240 V 50 Hz
  • ซาอุดีอาระเบีย 127/220 V 60 Hz
  • ซีเรีย 220 V 50 Hz
  • เอมิเรตส์ 220 V 50 Hz
  • เยเมน 220/230 V 50 Hz