BTS พร้อมปรับลดค่าโดยสาร เป็น 15 บาทตลอดสาย
บีทีเอสเด้งรับนโยบายคมนาคม พร้อมปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงทันทีไม่มีเงื่อนไข เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ส่วนเงินชดเชยจากการปรับลดค่าโดยสารนั้นมั่นใจว่ารัฐบาลคงหาวิธีได้ ด้านกรมรางหนุนหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้า ชี้เป็นนโยบายที่ทำได้ สายสีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์มีลุ้นสุด ชง รมว.คมนาคม ตั้งทีมพัฒนาโครงสร้างค่าโดยสารแล้ว ส่วนผู้ว่าการ รฟม.แบ่งรับแบ่งสู้เกรงเอกชนฟ้องร้องภายหลัง ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” ให้เวลา 1 เดือน หามาตรการแบ่งเบาภาระเพื่อลดค่าโดยสารให้ได้
จากกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายที่จะปรับลดค่าโดยสารรถสาธารณะทั้งระบบ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มให้ปรับราคาลงมาใกล้เคียงที่ 15 บาท/ตลอดสาย ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ผู้เกี่ยวข้องในระบบขนส่งสาธารณะได้ออกมาขานรับนโยบายดังกล่าวกันคึกคัก โดยนายอาณัติ อาภาภิรม ประธานที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ยอมรับว่า นโยบายลดราคาค่าโดยสารรถสาธารณะทั้งระบบเป็นเรื่องที่ดี และบีทีเอสเห็นด้วย พร้อมที่จะดำเนินการกับนโยบายรัฐบาลทุกอย่าง ทุกประการเพื่อ ช่วยเหลือประชาชนให้มีการระบบขนส่งมวลชนที่ดี ซึ่งหากรัฐบาล กระทรวงคมนาคม มีนโยบายชัดเจนออกมาก็พร้อมร่วมมือ ส่วนแนวทางจะปรับราคาค่าโดยสารลงมาเหลือเท่าไหร่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาคุยกัน ทั้งกระทรวงคมนาคม และผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบคือ บีทีเอส และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน และวิธีการแนวทางปรับลดราคาแล้ว ภาครัฐจะช่วยสนับผู้ประกอบการอย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาคุยกัน ซึ่งการสนับสนุนค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้ประชาชนได้เดินทางระบบสาธารณะที่ถูกลงนั้นเป็นเรื่องที่หลายๆประเทศก็ทำกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะท้ายที่สุดคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน แต่คงต้องรอฟังนโยบายที่ชัดเจนจาก รมว.คมนาคม ก่อน จากนั้น ขร.และหน่วยงานทางราง จะร่วมหารือเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เบื้องต้นมองว่าการที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะเหลือ 15 บาทตลอดสายสามารถทำได้ แต่คงเป็นในส่วนที่เดินรถโดยภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนการเดินรถในส่วนของเอกชนนั้น เนื่องจากมีการทำสัญญาเดินรถอยู่ คงต้องดูว่าจะมีรูปแบบใดที่จะสามารถทำได้บ้าง ส่วนที่ประชาชนร้องเรียนว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพงนั้น ขร. กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่และขณะนี้เสนอเรื่องผ่านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณปลัดกระทรวงคมนาคม ให้เสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้าง อัตราค่าโดยสารการขนส่งทางรางแล้ว เพื่อพิจารณามาตรการสนับสนุนโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของรัฐบาล และนำไปปฏิบัติต่อไป
ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยถึงนโยบายการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าว่า คงต้องรอให้มีความชัดเจนก่อนจึงจะตอบได้ว่าจะดำเนินการได้ด้วยวิธีไหน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดค่าโดยสารตามนโยบาย ซึ่งหากจะดำเนินการจริงก็ต้องไปดูรายละเอียดในเรื่องของสัญญาต่างๆที่ทำไว้ร่วมกันก่อนว่าเป็นอย่างไร หากเป็นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ที่เปิดให้ เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะพีพีพี กรอสคอสต์ ที่เปิดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเก็บค่าโดยสาร และส่งมอบเงินทั้งหมดให้ รฟม. ผลกระทบก็จะตกอยู่กับ รฟม.ที่จะมีรายได้ที่ลดลง ก็จะต้องมีการของบประมาณมาชดเชยรายได้ที่หายไป ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ปรับลดค่าโดยสารตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง คือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จึงต้องของบประมาณจากภาครัฐมาชดเชยการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เปิดให้บริการรถไฟชั้น 3 ฟรี และต้องของบประมาณจากรัฐมาสนับสนุนการดำเนิน งานอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ วันเดียวกันนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมถึงการจะปรับลดค่าโดยสารรถขนส่งมวลชนสาธารณะว่า หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตนจะเรียกประชุม 23 หน่วยงานในสังกัด เพื่อมอบนโยบาย โดยจะมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณาหาแนวทางและมาตรการการปรับลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทางให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน โดยแต่ละหน่วยงานต้องกลับไปศึกษาและพิจารณาดูภาระขององค์กรว่าปัจจุบันมีภาระมากน้อยแค่ไหนและ ยังพอมีช่องว่างเหลือพอที่จะออกมาตรการลดภาระค่า ครองชีพหรือลดค่าโดยสารได้หรือไม่อย่างไร โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องนำเสนอผลการศึกษา และมาตรการส่งกลับมาให้ตนพิจารณาภายใน 1 เดือน จึงจะรู้ว่าจะสามารถปรับลดค่าโดยสารอะไรได้บ้าง หรือไม่อย่างไร
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ