เช็คสัมภาระก่อนเลือกเข้าช่องศุลกากร เขียว หรือ แดง?

ออกจากสนามบิน ต้องเลือกออกช่องเขียว หรือช่องแดง?

            ตอนรับกระเป๋าที่สายพานออกมาแล้ว ก่อนที่จะเดินออกเคยสังเกตกันไหมว่ามีช่องศุลกากร (Customs) ที่เป็นป้ายสีเขียวและเขียนว่า Nothing to declare หรือไม่มีสิ่งของต้องสำแดง และป้ายสีแดงเขียนว่า Goods to declare หรือมีสิ่งของต้องสำแดง สองช่องนี้เราเรียกกันว่า ช่อง declare ครับ หลายคนบางทีไม่ได้สังเกตุว่าฉันเดินผ่านช่องอะไรออกมา เห็นคนเยอะๆก็ตามเค้าไปอะแหละ สำหรับอีกประเด็นคือเราคงเคยได้ยินข่าวกันมาว่าของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท จะต้องชำระภาษีประมาณ 20% ตามราคาจริงของสินค้า พร้อม Vat เรื่องนี้มีจริงหรือ? เรามาดูรายละเอียดพร้อมไขข้อสงสัยกันครับ

 

## รู้ไหม? คำว่าภาษีศุลกากรในที่นี้ จะไม่ใช้คำว่า TAX แต่จะใช้คำว่า DUTY นะครับ ##

 

ช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to declare)

คนไทยชอบเรียกกันว่า “ช่องเขียว” เราจะผ่านช่องเขียวกันก็ต่อเมื่อเราผ่านเงื่อนไขด้านล่างต่อไปนี้ครับ

  • ไม่มีเสบียงอาหาร ไม่มีของต้องห้าม และของต้องกำกัดตามข้อกำหนดของกรมศุลกากร (อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ >> https://www.changtrixget.com/tiptrick/prohibited-restricted-customs/)
  • ของใช้ส่วนตัวมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ต้องอยู่ในจำนวนที่สมควรแก่ผู้ใช้งานเรียกง่ายๆว่าอย่างละชิ้นนั่นแหละครับและต้องอยู่ในลักษณะที่ใช้งานแล้ว ในข้อนี้ศุลกากรมักจะมุ่งเป้าไปที่พวกสินค้าที่ดูมีราคา กระเป๋าหรือนาฬิกาแบรนด์เนม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องเกมส์ เป็นต้น
  • สุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ จำนวนไม่เกิน 1 ลิตร/คน
  • บุหรี่ ไม่เกิน 200 มวน หรือ 1 คอตตอน/คน และยาเส้นไม่เกิน 250 กรัม/คน
  • โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คส่วนตัว 1 เครื่อง/คน นับเป็นของใช้ส่วนตัวที่ไม่ต้องเสียภาษี

 

ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to declare)

คนไทยชอบเรียกกันว่า “ช่องแดง” ช่องนี้หลายๆคนไม่อยากจะยุ่งเท่าไหร่ แต่ในเมื่อเราเป็นประชาชนตาดำๆที่ต้องเสียภาษีอันแสนหฤโหดของไทยก็ต้องทนกันไป ตามหน้าที่ครับ ของที่ต้องสำแดงมีดังต่อไปนี้ครับ

  • ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่าสูงกว่า 20,000 บาท ต้องเสียภาษีครับ โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม ศุลกากรเพ่งเล็งเรื่องนี้มาก เพราะ มีคนหิ้วสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศมาขายกันเยอะมากๆครับ และแต่ละชิ้นบางทีเกินแสนก็เยอะครับ แล้วยิ่งคนนึงหิ้วมาหลายใบแม้จะบอกว่าเอาไว้ใช้เองก็ไม่รอดครับ

– แบรนด์เนมที่ซื้อมาใหม่จากต่างประเทศสดๆร้อนๆยังไม่ได้ใช้และมีสภาพใหม่มากเมื่อนำเข้าประเทศไทยก็ต้องเสียภาษีนะครับ เช่น กระเป๋าถือผู้หญิง ผู้ชาย นาฬิกา รองเท้า โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีจำหน่ายในไทยและหลายคนทราบกันดีว่ามีราคาสูงมากมองไกลๆก็เห็นชัด เป็นต้น เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่ประเมินราคาสินค้านั้น และคำนวนค่าภาษีปากระวาง 20-40% บวก vat 7% แต่ถ้าใครมีใบเสร็จมา สามารถยื่นให้เจ้าหน้าที่ได้เลย เจ้าหน้าที่จะใช้ราคาจากใบเสร็จนั้นครับ

– สินค้าแบรนด์เนมที่ผ่านการใช้งานแล้วมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ถ้ามีสภาพที่ยังใหม่มาก และพกอยู่ในกระเป๋าเดินทางหรือถือไว้หลายใบ นับราคารวมกัน หักลบส่วนที่เป็นตำหนิแล้วเกิน 20,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีปากระวาง 20-40% พร้อม vat 7% หลายคนถามว่าแบบนี้ก็ได้หรอ? ได้สิ อะไรก็เกิดขึ้นได้นะครับ ทางกรมศุลกากรได้ให้เหตุผลว่าบางคนซื้อของมือสองจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยกันเยอะ จึงต้องใช้มาตรการแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าเดือดร้อนกันไปทุกคนเลยครับ

  • เครื่องเกมส์ที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ไม่ว่าจะเป็น Sony, Nintendo, Play Station และ Xbox เป็นต้น เข้าข่ายสิ่งที่ต้องเสียภาษีครับ ต้องเสียภาษีปากระวาง 20% พร้อม vat 7%
  • กล้องถ่ายภาพ กล้องแบบฟิล์มต้องเสียภาษีปากระวาง 5% พร้อม vat 7% ส่วนกล้องดิจิตอลและกล้องวิดีโอต้องเสียภาษีปากระวาง 3% พร้อม vat 7%
  • มีการพกพาของต้องห้าม และของต้องกำกัดตามข้อกำหนดของกรมศุลกากร (อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ >> https://www.changtrixget.com/tiptrick/prohibited-restricted-customs/)
  • มีสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ มากกว่า 1 ลิตร ต้องสำแดงสินค้าเพื่อเสียภาษี
  • บุหรี่ เกิน 200 มวน หรือ 1 คอตตอน และยาเส้นเกิน 250 กรัม ต้องสำแดงสินค้าเพื่อเสียภาษี
  • สินค้าปลอดภาษีที่ซื้อมาจาก Duty Free ในสนามบินห้ามนำกลับมาใช้ในประเทศ ต้องนำไปใช้นอกประเทศเท่านั้น มิฉะนั้นจะต้องเสียภาษีปากระวางตามที่กรมศุลกากรกำหนดไว้
  • สินค้าที่ถูกซื้อกลับไปเป็นของฝากไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าไหร่ก็จะต้องเสียภาษีเพราะไม่ถือเป็นของใช้ส่วนตัว ถ้าซื้อสินค้าชนิดเดียวกันเป็นจำนวนหลายชิ้นและไม่เป็นของใช้ส่วนตัวเพราะไม่มีการเปิดใช้งาน ก็จะต้องเสียภาษีไปตามระเบียบครับ แต่ข้อนี้ศุลกากรคงไม่เคร่งครัดมากมายเท่าไหร่หากเป็นของที่มีมูลค่าไม่สูงมากครับ
  • ผู้ที่สำแดงสินทรัพย์ทั้งหมดต่อศุลกากรก่อนออกนอกประเทศ เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศมาต้องแสดงเอกสารที่ได้รับมาหลังจากสำแดงทรัพย์สินไว้เมื่อตอนขาออกจากประเทศให้เจ้าหน้าที่ดู พร้อมโชว์ทรัพย์สินนั้นๆด้วย

 

กรณีที่จะถูกยกเว้นภาษี

  • ในกรณีที่เราจะนำของใช้ส่วนตัวออกจากประเทศไทยและจะนำกลับเข้ามาอีกครั้งไม่ว่าจะมี 1 ชิ้น โดยเฉพาะมีหลายชิ้น ถ้ารู้ว่าราคารวมกันเกิน 20,000 บาท พี่ช้างอยากจะแนะนำให้ไปสำแดงของใช้ส่วนตัวทั้งหมดเหล่านั้นต่อกรมศุลกากรหลังจากที่เช็คอินเสร็จแล้ว แม้จะเสียเวลาไปบ้างแต่ยังไงก็ไม่ต้องเสี่ยงต่อล้อต่อเถียงกับเจ้าหน้าที่ เพราะ ถ้าเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเรียกตรวจกระเป๋าแล้วพบว่ามูลค่าเกิน 20,000 บาท เมื่อไหร่ ยากมากที่เค้าจะปล่อยครับ
  • ในส่วนของสินค้าแบรนด์เนมถ้าผ่านการใช้งานมีร่องรอย ตำหนิใดๆที่บ่งบอกว่าใช้อยู่จริงๆ และมีจำนวนแค่อย่างละชิ้นเท่านั้น เช่น กระเป๋าสะพาย 1 ใบ นาฬิกา 1 เรือน เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรก็อาจอลุ่มอล่วยมองข้ามไปได้ในบางครั้งแล้วแต่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ครับ

คำแนะนำ :  เพื่อความชัดเจนในเรื่องของรายละเอียดการเสียภาษี และการสำแดงทรัพย์สินก่อนออกนอกประเทศพี่ช้างแนะนำให้สอบถามจากกรมศุลกากรโดยตรงเป็นกรณีไปครับ

 


 

หากเราเดินเข้าช่องเขียว ทั้งๆที่มีสินค้าต้องสำแดง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไร?

ถ้าหากเราเดินเข้าช่องเขียวทั้งๆที่ไม่ทราบจริงๆว่าของที่เรามีมันจะต้องสำแดง เจ้าหน้าที่อาจจะใช้การเจรจาให้เดินเข้าช่องแดงเพื่อไปชำระภาษีขาเข้าอย่างถูกต้อง แต่หากดูแล้วมีเจตนาเลี่ยงภาษีอาจถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ถูกยึดทรัพย์สิน และปรับได้ครับ แต่หากในกรณีที่ไม่ต้องการจะชำระค่าภาษี ทางกรมศุลกากรจะทำการยึดทรัพย์สินของเราเข้าส่วนกลางทันที ถ้าอยากได้คืนสามารถซื้อคืนภายหลังได้โดยการยื่นคำร้องต่อกรมศุลกากร และสินค้าที่จะซื้อคืนกรมศุลกากรจะทำการประเมินราคาไว้ให้และต้องซื้อตามราคานั้นครับ

 

คนที่จะถูกกรมศุลกากรเรียกตรวจกระเป๋าเป็นแบบไหน?

ทางเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมักจะเรียกวิธีการนี้ว่าหลักการตามระบบบริหารความเสี่ยง (Risk management) ถ้าเรียกง่ายๆตามภาษาเราก็คือการสุ่มตรวจนั่นแหละครับ หรือบางทีถ้าเจอคนที่ถือของมาให้เห็นกันโต้งๆก็โดนกันไป เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเหมือนคนมีตาทิพย์ ตาไว เห็นมาแต่ไกลก็เรียกตรวจละ คนที่มักจะโดนเรียกตรวจกระเป๋าส่วนใหญ่คือหิ้วสินค้าชนิดเดียวกันมาด้วยเกิน 1 ชิ้นขึ้นไป หรือสินค้าดูใหม่มากๆและเป็นของมีราคาอันนี้ถ้าเห็นชัดเจนก็มักจะโดนเรียกตรวจค้นกระเป๋า แต่ถ้าไม่ได้ถือให้เห็น เจ้าหน้าที่อาจใช้การสุ่มโดยวิเคราะห์ดูจากลักษณะภายนอกได้ครับ

 

หากไม่ยอมชำระภาษี และถูกกรมศุลกากรยึดของไว้ ของจะไปอยู่ที่ไหน?

คำถามข้อนี้ประชาชนตาดำๆทั่วไปก็อาจเกิดความคลางแคลงใจว่า ของที่ยึดไปแล้วจะเอาไปไว้ที่ไหนกัน คำตอบคือ ศุลกากรจะยึดไว้เป็นสินทรัพย์ส่วนกลางของแผ่นดินครับเมื่อถึงเวลาก็จะนำสินค้าที่ยึดมานั้นไปเปิดประมูลขาย สำหรับเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดมาจะได้รับสิทธิ์ประมูลสินค้านั้นๆเป็นคนแรกครับ ใครอยากได้ของคืนสามารถไปร่วมประมูลได้ แต่ต้องแจ้งความจำนงค์ไว้ก่อน ส่วนรายได้จากการประมูลจะถือว่าเป็นเงินส่วนกลางของแผ่นดินไป แต่ถ้าเราถูกยึดไปและต้องการจะซื้อคืนก็สามารถซื้อคืนได้โดยการยื่นคำร้องไปทางกรมศุลกากรจะทำการประเมินราคาให้ เราก็ต้องซื้อคืนไปตามราคานั้น

 

สินค้าที่เราซื้อมาใช้เอง ซื้อราคาเต็มมาแบบจ่ายภาษีที่ต่างประเทศแล้ว ต้องเสียภาษีในไทยอีกหรือ?

            ใช่แล้วครับ ในเมื่อกฎหมายได้ถูกกำหนดชัดเจนเลยว่าสินค้าที่นำเข้ามาเป็นของใช้ส่วนตัวถ้ารวมกันเกิน 20,000 บาท ถึงอย่างไรก็ต้องเสียภาษี

 

สินค้าที่ซื้อใช้เองในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เรานำออกไปนอกประเทศ ขากลับเข้ามาเราต้องเสียภาษีไหม?

            ตามกฎหมายแล้วทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดรวมกันเกิน 20,000 บาทก็ต้องเสียครับ อย่างที่พี่ช้างบอกไว้ ถ้าไม่อยากเสียภาษีหรือโดนยึดแนะนำให้ไปสำแดงทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดก่อนเดินทางออกนอกประเทศนะครับ กรมศุลกากรไม่ได้บังคับให้ไปสำแดงของก่อนออกนอกประเทศแต่เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา ไปแจ้งไว้ดีกว่า แม้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะเคยออกมาบอกว่าถ้าเป็นของส่วนตัวใช้แล้วเค้าจะไม่ยุ่ง แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้อีกนั่นแหละครับ

 

ทำไมกรมศุลกากรจึงไม่มุ่งเป้าไปที่พ่อค้า แม่ค้าที่ลักลอบนำสินค้าเข้ามาขายโดยตรง แทนที่จะเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ซื้อสินค้ามาขาย?

คำตอบง่ายๆ คือ กรมศุลกากรก็ไม่รู้หรอกครับว่าใครเป็นพ่อค้า แม่ค้า เค้าจึงต้องใช้วิธีการสุ่มเลือกผู้ต้องสงสัยเอา ถ้าเจอก็แจ็กพ็อตไป ถ้าไม่เจอก็ขอบคุณในความร่วมมือกันตามระเบียบ

 

เราเป็นประชาชนก็ต้องจ่ายภาษีไปตามหน้าที่นะครับ ซื้อของมีราคาจากต่างประเทศเข้ามาแม้จะซื้อมาเพื่อใช้เองก็ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล ใครที่รู้ตัวว่าสินค้าที่ซื้อมาเอาไว้เพื่อขายก็ควรจะต้องเสียภาษีนำเข้าตามกฎหมายกำหนด ยิ่งพยายามเลี่ยงยิ่งถูกปรับเยอะ อาจถึงขั้นถูกดำเนินคดีตามกฎหมายข้อหาลักลอบหนีภาษีกันเลยทีเดียวครับ พี่ช้างว่าคราวหน้าเวลาเข้าออกประเทศพี่ช้างจะเปลี่ยนจากสะพายเป๋ามียี่ห้อ มาใช้ถุงผ้ารักษ์โลก ไม่ก็ถุงก๊อปแก๊ป ใส่นาฬิกาเรือนละร้อย กระเป๋าสตางค์ใบละร้อย เสื้อผ้าซื้อจากตลาดนัดก็พอ ไม่งั้นต้องเสียภาษีขาเข้าไม่มีค่าแท็กซี่กลับบ้าน ล้อเล่นน้าาา เอาเป็นว่าก็เสียภาษีไปตามหน้าที่และกฎหมายกำหนดนั่นแหละครับสบายใจที่สุด หรือไม่ก็ไปสำแดงทรัพย์สินก่อนออกนอกประเทศตามที่กรมศุลกากรเค้ากำหนดเอาไว้จะได้เดินเข้าออกแบบสบายๆหายห่วงครับ